'บุรินทร์ อินติน' จากช่างเชื่อมผู้เห็นใจเสื้อแดง สู่ ผู้ต้องขังคดี 112
Wed, 2016-05-25 20:30
ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม
เปิดบางแง่มุมชีวิต หนุ่มเหนือ-ช่างเชื่อมวัย 28 ปีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว เขาถูกจับใน กิจกรรม "ยืนเฉยๆ" พร้อมคนอื่นๆ แต่เป็นคนเดียวที่ไม่ถูกปล่อยตัว เนื่องจากถูกตั้งข้อหา 112 ถึง 2 คดี ปัจจุบันถูกฝากขังผัด 3 อย่างเงียบเชียบ
ภาพบุรินทร์ อินติน เพิ่งปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโลกออนไลน์เคียงคู่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัตน์ หรือจ่านิว และคนอื่นๆ ในกลุ่มพลเมืองโต้กลับในเหตุการณ์ "ยืนเฉยๆ" ครั้งที่ 3 เมื่อ 27 เม.ย.2559 ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัว วัฒนา เมืองสุข และประชาชนที่ถูกทหารคุมตัวไปก่อนหน้านั้น
ผู้คนอาจงุนงงสงสัยว่าเขาคือใคร เนื่องจากเป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักกิจกรรมทางการเมือง และไม่ใช่ชาวบ้านขาประจำที่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองมายาวนานจนเป็นที่รู้จัก และนั่นทำให้การคุมขังเขาในเรือนจำเป็นไปอย่างเงียบเชียบ
ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์นั้น สมาชิกพลเมืองโต้กลับที่ปรากฏตัวที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ทั้งหมดถูกนำตัวไปสน.พญาไท รวมถึงบุรินทร์ด้วย และในระหว่างการสอบสวนนั้นเอง ทหารได้บุกเข้าควบคุมตัวบุรินทร์ถึงห้องสอบสวนนำขึ้นรถตู้ออกไปโดยไม่รู้ที่หมาย...เพียงคนเดียว ท่ามกลางความสับสนงุนงงของทุกคนที่สถานีตำรวจ เขาอยู่ในความควบคุมของทหาร 1 วัน ก่อนตำรวจจะนำตัวเขามาแถลงข่าวแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112
นายทหารยศพันเอกชื่อเดียวกับเขา คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนถึงที่มาที่ไปของการจับและแจ้งข้อหานี้ว่า ทหารเฝ้าติดตามพฤติกรรมบุรินทร์ อินตินมาตลอด สายข่าวพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Burin Intin ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและ คสช.รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กระทั่งวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เวลา 12.13 น.นายบุรินทร์โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 40 นาที พร้อมข้อความ "นู๋อยากโดนอุ้ม#ปล่อยเพื่อนเราที่โดนอุ้ม" ก่อนจะมีบุคคลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปดังกล่าว และนายบุรินทร์ตอบความคิดเห็นในลักษณะหมิ่นเบื้องสูง
ไม่นานหลังการให้ข่าวนี้ มีการออกหมายจับ 'แม่จ่านิว' หรือพัฒน์นรี เสรีธิวัฒน์ ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 โดยตำรวจอ้างถึงการสนทนาส่วนตัวในกล่องข้อความของเฟซบุ๊ก ระหว่าง บุรินทร์ กับ แม่จ่านิว เนื้อหาที่สนทนานั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปช่วยเหลือทางคดีกับแม่จ่านิวได้ออกมาเปิดเผยว่า ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาอ้างอิงบทสนทนาที่แม่จ่านิวตอบกลับบุรินทร์เพียงคำว่า "จ้า"
"จ้า" กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก พร้อมๆ กับคำถามว่าเจ้าหน้าที่เข้าถึงหลักฐานกล่องข้อความส่วนตัวได้อย่างไร จนในที่สุดตำรวจต้องออกมาแถลงข่าวว่าเข้าถึงข้อมูลอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขณะที่แม่จ่านิวก็ได้รับการประกันตัวในที่สุด
เวลานี้จึงมีบุรินทร์ อินติน เพียงคนเดียวที่ถูกจำคุกอยู่ เขาไม่มีญาติเยี่ยม และไม่มีเงินประกันตัวจนกระทั่งในการฝากขังผัดที่ 3 เมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับทำการระดมทุนได้ 300,000 บาทและยื่นประกันตัวบุรินทร์ แต่ศาลทหารปฏิเสธ
บุรินทร์ อินติน เป็นใคร?
หนุ่มคนงานช่างเชื่อมเหล็กร่างเล็ก วัย 28 ปี ผู้นี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดพะเยา เขาเรียนจบ ม.2 ครึ่ง ไม่ทันจบ ม.3 เพราะช่วงนั้นติดเกมส์อย่างหนัก บุรินทร์เล่าให้ฟังแบบซื่อๆ
บุรินทร์เล่าว่า ในคืนวันที่เขาถูกคุมตัวอยู่ที่ มทบ. 11 เจ้าหน้าที่ทหารพยายามที่จะให้เขามอบรหัสเฟซบุ๊กของเขาให้ แต่เขาไม่ยอมและใช้วิธีเงียบและ ไม่โต้เถียง ไม่ให้ข้อมูลแล้วก็ไม่ต่อปากต่อคำ นั่นอาจทำให้ผู้ควบคุมตัวไม่พอใจ ชายร่างใหญ่ในชุดปกติสวมหมวกไหมพรมคลุมศรีษะตบเขาที่บริเวณศรีษะอย่างแรงถึง 4 ครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ในห้องสอบสวนข่มขู่เขาว่า "มึงไม่รอดหรอก ไม่ได้ออกไปแน่ ถ้ามึงไม่บอกกู มึงจะโดนพาไปที่ๆ หนักกว่านี้"
เขายืนยันว่าเขาไม่ได้มอบรหัสเฟซบุ๊กให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่กลับนำสำเนาเอกสารการพูดคุยในกล่องข้อความที่ถูกระบุว่าเป็นของเขา ออกมาประกอบการสอบสวน ที่สำคัญ เอกสารดังกล่าวปรากฏก่อนที่จะมีการไปยึดคอมพิวเตอร์ที่บ้านเขาเสียอีก อย่างไรก็ตาม ทนายความระบุว่า บุรินทร์เป็นชาวบ้านธรรมดาที่เพิ่งมาสนใจการเมือง ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก เขาเริ่มเล่นเฟซบุ๊กมาได้สักพักใหญ่และตั้งรหัสแบบจำง่ายที่ชาวบ้านร้านตลาดมักทำกัน นั่นคือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือของตัวเอง
หลังการแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นสถาบันกับแม่จ่านิว โดยหลักฐานมาจากการสนทนากับบุรินทร์ ผู้คนในโลกไซเบอร์ต่างวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา จำนวนไม่น้อยสงสัยว่า บุรินทร์คือ "สาย" ของฝ่ายความมั่นคงที่พยายามมาตีสนิทและ "ล่อซื้อ" อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า บุรินทร์นั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แล้ว 2 คดี คดีแรกจากการตอบคอมเม้นท์หรือโพสต์ในเฟซบุ๊ก ส่วนคดีที่สองที่ตามมาคือ บทสนทนาส่วนตัวกับแม่จ่านิวนั่นเอง
เมื่อถามเขาว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไร บุรินทร์บอกว่า เขาสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เหตุเพราะชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตโดยเฉพาะ วงคาราบาว นี่ชอบเป็นพิเศษ
"เริ่มแรกผมไม่ชอบนักการเมือง แต่ต่อมาผมยึดหลักว่าหากว่าใครที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมก็จะช่วยเหลือ" บุรินทร์กล่าว
เมื่อถามว่าบุรินทร์เป็นเสื้อแดงใช่หรือไม่ บุรินทร์ปฏิเสธและออกตัวว่า "ผมเป็นแค่คนที่เห็นใจคนเสื้อแดงเท่านั้น เพราะจากเหตุการณ์การเมืองที่ผ่านมา คนเสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกกระทำ ในบางประเด็นผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงอย่างเรื่องนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพราะผมคิดถึงคนที่เขาสูญเสียชีวิตหรือสูญเสียคนที่เขารักจากในเหตุการณ์ ถ้าคนที่เป็นผู้สั่งการไม่ต้องรับผิดแล้วพวกเขาจะมีความรู้สึกอย่างไร"
บุรินทร์เล่าว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองครั้งแรกจริงๆ ก็ในช่วงเหตุการณ์ที่นักศึกษาโดนจับที่ สน.ปทุมวัน แม้การร่วมกิจกรรมดังกล่าวอาจถูกมองว่ามีความเสี่ยงในการท้าทายกฎหมาย แต่เขายืนยันว่ามันเป็นการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ชอบธรรม
บุรินทร์ทิ้งท้ายว่า ต่อให้จับเขามาขัง เขาก็จะยังไม่ยอมแพ้ เขาจะสู้ต่อตามสภาพที่เขาพอจะทำได้ต่อไป