Saturday, May 21, 2016

ร่างรธน.ทรราช คสช.ทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม 'แก่ก่อนรวย'

ร่างรธน.ทำคลอดรัฐบาลอ่อนแอ เจอแน่สังคม 'แก่ก่อนรวย'
-
อภิชาต สถิตนิรภัย: 
-

เสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้" ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อภิชาต สถิตนิรมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวโน้มการมีรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพกับดักรายได้ปานกลางว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้เกิดการทำคลอดรัฐบาลเป็ดง่อย เป็นรัฐบาลรักษาการถาวร

-
ทุกวันนี้ เราต้องการรัฐที่เข้มแข็งกว่ายุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยซ้ำ เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจยากกว่า เราต้องการระบบราชการที่แข็งและมีประสิทธิภาพมากกว่ายุคสฤษฎ์ด้วยซ้ำ ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้หรือเปล่า ปัญหาเร่งด่วนคือ ภายในปี 2564 คนอายุ 60 ขึ้นไปจะมี 14% และจะเป็น 20% ในปี 2570 เราจะกลายเป็นสังคมแก่ก่อนรอย ระบบสวัสดิการจะล่ม เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วทันหรือไม่ เราจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ จะทันเวลาที่เราก้าวเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์หรือไม่

-
หากลองดู รอบปี 2543-2553 ผลิตภาพ/ความสามารถในการผลิตในด้านแรงงาน เพิ่ม 2% เศษเท่านั้น เราจะกลายเป็น "สังคมแก่ก่อนรวยอย่างรวดเร็ว" เราจะรับมือกับการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างสังคมไม่ได้ รายงานแบบวงเวียนชีวิตอาจต้องเพิ่มมากขึ้น

-
เราจึงต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพเพื่อขับเคลือนนโยบาย และระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ระบบราชการไทยล้าหลังและตามโลกไม่ทัน ต้องการปฏิรูปขนานใหญ่ ซึ่งก็ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง
ทั้งหมดนี้เมื่อเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญที่เราเห็น ถ้าร่างรัฐบาลผ่าน รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นรัฐบาลอ่อนแอ อายุสั้น ไม่สามารถแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เพราะการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมโดยตัวเองก็ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย เอื้อต่อพรรคขนาดกลาง การเลือกตั้งจะไม่เกิดการชนะแบบเบ็ดเสร็จ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก่อนปี 2540 โอกาสที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างทางเสรษฐกิจที่ยาก แทบเป็นไปไม่ได้เลย 

-
เพราะการยกระดับผลิตภาพ ความสามารถในการผลิตต้องอดทน วางแผนและปฏิบัติการยาว และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้รบ.อายุสั้นไปอีก เช่น ความคลุมเครือในการพิจารณางบประมาณประจำปีที่นำไปสู่การถอดถอนได้ มาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดโดยองค์กรต่างๆ รวมถึงศาล มันอาจนำไปสู่การส่งให้ศาลตัดสิน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตัดสินได้ว่ารัฐมนตรีไม่มีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ซึ่งเป็นการตีความเชิงอัตวิสัยมาก

-
มันจะกลายเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย รัฐบาลรักษาการถาวร ไม่สามารถล้มนโยบายเก่าหรือสร้างนโยบายเก่าได้ และยิ่งไม่มีทางปฏิรูประบบราชการได้
ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการฟื้นคืนชีพของระบบรัฐราชการ ทั้งที่พวกเราก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าปัจจุบันราชการไล่ตามเอกชนไม่ทัน และการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคตแทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้ ส.ส. เกือบทั้งสภาเห็นชอบก็ยังทำไม่ได้เพราะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.แต่งตั้งจำนวนมาก และรัฐธรรมนูญที่แก้ได้ยากแบบนี้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือที่รอมชอมกันได้ในทางการเมือง อาจนำสู่ความขัดแย้งสูงมากในทางการเมือง

-
"มองแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในทัศนะของผม จึงเป็นตัวให้ความหวังว่าจะผลิตรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลพอที่จะผลักดันสังคมหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เราคงต้องเผชิญกับสภาพแก่ก่อนรวยไปก่อนแล้วกัน"

-
Cr Prachatai