การสร้างบรรลังบนปากกระบอกปืนของทรราช คสช. นั้นไม่ยาก หากแต่....
การนั้งบนปากกระบอกปืนที่สร้างขึ้นนั้น มันยากกว่า หลายร้อยเท่า
--------------------------------------------------------------------------------
เสนานาวากลางพายุใหญ่! แปดพายุร้อนหลังสงกรานต์
-
ในท่ามกลางความร้อนของอากาศเช่นนี้ หลายๆ คนคงต้องดูรายงานอากาศ เพราะพายุฤดูร้อนในช่วงเวลาปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากภาพข่าวที่เกิดขึ้นในหลายๆ จังหวัด
-
เห็นรายงานเตือนภัยจากพายุแล้ว ก็อดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าระหว่างพายุลมร้อนกับพายุการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น พายุลูกไหนจะหนักหน่วงกว่ากัน
-
ขณะเดียวกันก็อดคิดถึง "รัฐนาวาทหาร" ท่ามกลางพายุเช่นนี้ไม่ได้…
-
พายุการเมืองหลังสงกรานต์ดูจะท้าทายต่อรัฐนาวา คสช. เป็นอย่างยิ่ง!
-
ถ้าสถานีอุตุนิยมวิทยาจะต้องรายงานสภาพอากาศทางการเมืองแล้ว ก็อาจประเมินได้ว่ารัฐนาวา คสช. กำลังเผชิญกับพายุ 8 ลูกในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
-
พายุทั้ง 8 ลูกนี้จะโหมกระหน่ำและมีความรุนแรงเพียงใดนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป
-
1)
-
พายุโลก
-
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพายุใหญ่ลูกสำคัญเป็นพายุจากภายนอก พายุลูกนี้ใหญ่กว่าที่คิด แต่รัฐบาลทหารในทุกประเทศก็มักจะกล่าวเสมอว่าการใช้อำนาจเผด็จการที่เกิดขึ้นเป็น "กิจการภายใน" ของรัฐ
-
ตัวอย่างใกล้บ้านในอดีตก็คือ รัฐบาลทหารของเมียนมา ซึ่งก็มักจะกล่าวเสมอว่า การดำเนินการของรัฐบาลทหารเป็นเรื่องภายใน
-
แม้จะเป็นเรื่องภายใน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การถูกกดดันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูก "แซงก์ชั่น" จากภายนอก
-
ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกให้เห็นว่าการเมืองภายในไม่ใช่กิจการภายในอีกต่อไป
-
ยิ่งเมื่อรัฐต้องอยู่ในบริบทที่เป็น "โลกาภิวัตน์" ที่เห็นความเชื่อมต่อระหว่างโลกภายในกับโลกภายนอกแล้ว การยืนบนความเชื่อว่ากิจการภายในของรัฐเป็นสิ่งที่แทรกแซงไม่ได้นั้น ดูจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก กระแสประชาธิปไตยในกระแสโลกาภิวัตน์แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของประเทศ จนทำให้ระบอบอำนาจนิยมไม่ใช่เรื่องภายในของรัฐอีกต่อไป
-
ดังนั้น สำหรับรัฐบาลทหารไทยปัจจุบันซึ่งถือกำเนิดจากการรัฐประหารในปี 2557 ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายต่างๆ ที่พยายามจะสร้างวาทกรรมว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องภายในของไทย ก็ดูจะเป็นวาทกรรมที่ไม่ได้รับการตอบรับจากโลกเท่าใดนัก
-
การกดดันรัฐบาลทหารไทยยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
-
และยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามจะแสดงออกถึง "มาตรการอำนาจนิยม" ในรูปแบบของการจับกุมที่เพิ่มมากขึ้นหรือคำสั่งที่เข้มงวดมากขึ้น ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมทั้งมีเสียงเรียกร้องให้เคารพในการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่าง
-
ดังตัวอย่างล่าสุดคือเสียงเรียกร้องของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวันที่ 12 เมษายน 2559 เป็นต้น
-
แม้พายุจากภายนอกอาจจะไม่สามารถพัดจนทำให้รัฐนาวาทหารจมลงได้ทันที แต่พายุจากภายนอกก็ทำให้ผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจต้อง "หงุดหงิด" แล้วส่งต่อความไม่พอใจเช่นนี้ไปให้กระทรวงการต่างประเทศไทยคอยตอบโต้เสียงเรียกร้องจากต่างประเทศอยู่ร่ำไป
-
แต่ก็ดูเหมือนเสียงชี้แจงจากรัฐบาลไทยและคำตอบโต้จากกระทรวงการต่างประเทศไทยจะแผ่วเบาเหลือเกินในเวทีโลกปัจจุบัน
-
ฉะนั้น ปัจจัยจาก "ลมภายนอก" จึงยังคงพัดแรงและสร้างแรงกดดันให้แก่รัฐบาลไทยต่อไป แม้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้โดยตรงในขณะนี้ก็ตามที
-
2)
-
พายุรัฐธรรมนูญ
-
หลังจากการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น และตามมาด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งภายใต้การนำของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แล้ว นักวิเคราะห์ทั้งภายในและภายนอกพอจะคาดเดาได้ทันทีว่าสาระของร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับมีชัย" ย่อมจะตกอยู่ในการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
-
ว่าที่จริงปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนมาแล้วกับ "ฉบับบวรศักดิ์"
-
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดกับเสียงที่แสดงออกถึงความเห็นในส่วนต่างๆ กับสาระของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และดูเหมือนว่าจากการแสดงความเห็นที่เกิดขึ้นที่ออกไปในเชิงลบต่อรัฐธรรมนูญนั้น กำลังจะกลายเป็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเมืองไทยกำลังตกอยู่ท่ามกลาง "พายุรัฐธรรมนูญ" ลูกใหญ่
-
และพายุลูกนี้ทำท่าจะก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
-
สำหรับในทางอุตุนิยมวิทยาการเมืองแล้ว คาดเดาได้ไม่ง่ายว่า พายุลูกนี้จะสร้างความเสียหายแก่รัฐนาวาทหารมากน้อยเพียงใด
-
แต่สัญญาณที่เกิดขึ้นดูจะบอกอย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐนาวาทหาร คสช. คงจะพาตัวเองออกจากพายุลูกนี้ได้ยาก
-
ปัญหาที่สำคัญก็คือแล้วรัฐนาวาทหารจะเผชิญกับพายุลูกนี้ได้อย่างไร จนเรือไม่พลิกคว่ำลงกลางพายุใหญ่
-
3)
-
พายุประชามติ
-
พายุรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ยังพาพายุอีกลูกมาด้วยก็คือ "พายุประชามติ" ซึ่งผลจากท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่แสดงความเห็นต่อสาระในร่างรัฐธรรมนูญ อันจะนำไปสู่การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น เริ่มทำให้เกิดการคาดคะเนถึงชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่าจะเกิดอาการ "แท้ง" เหมือนกับร่างฉบับก่อนหรือไม่
-
หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าในที่สุดแล้วการเมืองไทยอาจจะประสบปัญหาก่อนการลงประชามติ
-
หรือท่าทีของผู้นำรัฐบาลก็แสดงออกในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน จนทำให้นักวิเคราะห์เริ่มคิดถึงอนาคตของวันที่ 7 สิงหาคม ว่าจะเกิดขึ้นจริงได้เพียงใด
-
ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นถึงการแสดงออกจากกลุ่มผู้เห็นต่างมากขึ้น
-
เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ดูจะดังขึ้นเรื่อยๆ และนักสังเกตการณ์แทบจะไม่ต้องวิเคราะห์ต่อเลยว่าถ้าพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ร่วมกันแล้ว เกมประชามติที่จะนำไปสู่ชัยชนะจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
-
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงจากปีกปัญญาชน และกลุ่มเอ็นจีโอบางส่วนก็เริ่มชัดเจนขึ้นไม่แตกต่างกัน
-
ฉะนั้น จึงพอจะคาดการณ์ได้ไม่ยากนักว่าพายุประชามติจะยิ่งทำให้พายุรัฐธรรมนูญรุนแรงขึ้น
-
และลมพายุลูกนี้จะสร้างความเสียหายทางการเมืองกับรัฐนาวา คสช. อย่างใดหรือไม่
-
จึงเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามดูกันต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
-
4)
-
พายุสงฆ์
-
ในท่ามกลางพายุการเมือง พายุอีกลูกที่เริ่มพัดสู่สังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ ลมพายุจากปัญหากรณีการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ ปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของศาสนจักรอีกต่อไป
-
แต่ความน่ากังวลก็คือปัญหาดังกล่าวกำลังสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรหรือไม่
-
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ความขัดแย้งชุดนี้จะจบลงอย่างไร
-
กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ในปัญหาตำแหน่งประมุขสงฆ์เท่านั้น หากแต่กำลังสะท้อนการชิงอำนาจทางการเมืองชุดใหญ่อีกชุดหนึ่งของสังคมไทยโดยมีกองทัพเป็นแนวหน้าของการสู้ และมีพื้นที่สงฆ์เป็นสนามรบ
-
ดังนั้น ในขณะที่ปัญหาการแต่งตั้งพระสังฆราชยังไม่สิ้นสุดนั้น สัญญาณจากปัญหาพระอีกเรื่องหนึ่งก็ตามมา ก็คือ มติสงฆ์จากจตุรทิศแห่งสวนแสงธรรมที่มีมติไม่ไว้วางใจต่อผู้นำรัฐบาล
-
อันเป็นผลจากการปิดสถานี "วิทยุธรรมะ" ของคณะสงฆ์ในสายของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน…
-
พายุลูกนี้ยังคงเป็นลมร้อนแรง และเป็นปัจจัยที่คาดคะเนได้ยาก
-
แต่ถ้าพายุนี้พัดแรงมากขึ้น ก็คงส่งผลต่อนาวาของรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน
-
5)
-
พายุเศรษฐกิจ
-
ในท่ามกลางพายุลูกต่างๆ ที่พัดกระแทกรัฐนาวาของ คสช. อย่างต่อเนื่องนั้น พายุร้ายอีกลูกที่น่ากลัวก็คือพายุเศรษฐกิจ
-
พายุลูกนี้รุนแรงเสมอเพราะความอยู่ดีกินดีที่เกิดขึ้นจากสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของรัฐบาลทั่วโลก
-
แม้เศรษฐกิจจะไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้คนลุกขึ้นมาโค่นล้มรัฐบาล ดังตัวแบบทางทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ์ แต่ก็ละเลยไม่ได้ว่า รัฐบาลที่ไม่อาจสร้างให้ประชาชนมีสตางค์ในกระเป๋านั้นอยู่ได้ยาก
-
ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้การโฆษณาทางการเมืองอย่างใดก็แล้วแต่ แต่สถานะทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงในชีวิตของประชาชนคือคำตอบที่หลอกลวงไม่ได้
-
ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลทหารจะใช้การโฆษณาทางการเมืองอย่างไรก็ตาม จะให้คนออกมาพูดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะดีขึ้นอย่างไรก็ตาม
-
แต่เมื่อชีวิตจริงทางเศรษฐกิจของประชาชนสวนทางจากคำบอกเล่าเหล่านั้นโดยสิ้นเชิงแล้ว ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลก็ลดลงเรื่อยๆ
-
จนถึงวันนี้คนไม่ค่อยเชื่อว่ารัฐบาลทหารตลอดรวมถึงบรรดา "มือเศรษฐกิจ" ที่ออกแสดงหน้าจอโทรทัศน์ จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยเท่าใดนัก
-
พร้อมกันนี้ก็มีสัญญาณเตือนถึงพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากปัญหาเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ
-
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะ "เศรษฐกิจขาลง" ของไทยอย่างชัดเจน
-
ขณะเดียวกันก็คาดคะเนได้ยากว่าอาการนี้จะนำไปสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงหรือไม่ในอนาคตอันใกล้ พายุเศรษฐกิจลูกนี้อาจจะใหญ่และน่ากลัวมากกว่าที่คิด
-
6)
-
พายุแล้ง
-
ไม่มีใครเชื่อว่าความร้อนและความแห้งแล้งที่ทวีมากขึ้นนับจากหลังเทศกาลความสุขแห่งสงกรานต์นั้น เป็นผลที่เกิดจากการยึดอำนาจของรัฐบาลทหาร
-
แต่สิ่งที่ทุกคนจับตามองก็คือ รัฐบาลทหารจะบริหารประเทศในวิกฤตการณ์ภัยแล้งครั้งนี้อย่างไร และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความแห้งแล้งที่กำลังขยายตัวเป็นวงกว้างนั้น กำลังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
-
แน่นอนว่าต้นทุนของเกษตรกรไทยในยามนี้หนักขึ้นมาก เช่น กรณีของชาวสวนผลไม้ หรือขณะเดียวกันอนาคตของกสิกรไทยกับการทำนาก็แทบเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก
-
ปรากฏการณ์ความแห้งแล้งครั้งนี้กำลังพิสูจน์อีกครั้งว่า ชาวนาไทยทำนาได้ด้วยความกรุณาของฝนฟ้าที่มาตามฤดูกาล
-
แต่เมื่อไม่มีฝนและผิดฤดูกาลแล้ว ก็แทบจะไม่มีระบบอะไรรองรับเลย
-
พายุแห่งความแห้งแล้งครั้งนี้กระหน่ำสังคมไทยทั่วทุกส่วน
-
ไม่เพียงแต่ทำนาไม่ได้ ทำการเกษตรไม่ได้เท่านั้น แต่สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าก็คือ ลูกหลานชาวนาชาวสวนจะเอาสตางค์ที่ไหนไปจ่ายค่าเทอม โรงเรียนกำลังจะเปิดปีการศึกษาใหม่ในกลางเดือนพฤษภาคมนี้
-
ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่าพายุลูกนี้จะสร้างความเสียหายทางการเมืองแก่รัฐนาวาทหารเพียงใด
-
หรือความแล้งเป็นชะตากรรมของชาวนาชาวสวนที่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ
-
เพราะอย่างน้อยสนามกอล์ฟทั้งของพลเรือนและทหารก็ยังใช้น้ำรดหญ้าได้เป็นปกติ
-
7)
-
พายุเล็ก
-
ในท่ามกลางพายุใหญ่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทยนั้น พายุลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งก็แฝงตัวเข้ามา ลมพายุลูกนี้ไม่แรง แต่ก็กระแทกเข้าโดยตรงกับรัฐนาวาของ คสช.
-
พายุเล็กๆ ลูกนี้เกิดจากการบรรจุลูกหลานของผู้นำทหาร คสช. เข้ารับราชการในกระทรวงกลาโหม แน่นอนว่าไม่ใช่พายุใหญ่ แต่ก็ดูจะทำให้รัฐนาวา คสช. ต้องรีบแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
-
ว่าที่จริงก็อาจจะเทียบเคียงได้กับพายุราชภักดิ์ แต่เป็นในขอบเขตที่เล็กกว่ามาก
-
ดังนั้น แม้พายุนี้จะไม่กระแทกแรงจนรัฐนาวา คสช. ต้องเสียศูนย์
-
แต่อย่างน้อยแรงกระแทกที่เกิดขึ้นก็ทำให้กัปตันเรือ คสช. ต้องรีบออกมาดู และพยายามปรับทิศทางรัฐนาวาลำนี้ให้ออกไปพ้นจากพายุลูกเล็กๆ นี้ให้ได้
-
เพราะแม้พายุลูกนี้จะลูกเล็ก แต่ก็อาจพัดรัฐนาวา คสช. ให้เกยตื้นได้ไม่ยากนัก
-
8)
-
พายุศรัทธา
-
ไม่ว่าพายุการเมืองจะเกิดกี่ลูกก็ตาม แต่พายุที่น่ากลัวที่สุดก็คือ พายุแห่งความไร้ศรัทธา ถ้าพายุลูกนี้พัดแรงขึ้น ก็ยิ่งบ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐนาวา คสช.
-
ดังนั้น การแก้ปัญหาและการแสดงออกทางการเมืองของรัฐบาลจึงเป็นปัจจัยสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน
-
แน่นอนว่าไม่มีใครคาดหวังว่ารัฐบาลทหารจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้
-
แต่รัฐบาลทหารที่ไม่อาจแสดงผลงานให้ประชาชนรู้สึกยอมรับได้แล้ว การคงอยู่ของรัฐบาลเช่นนี้จะกลายเป็น "วิกฤตศรัทธา" ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกฤตศรัทธาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ตั้งอยู่บนรากฐานอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ดังนั้นจึงไม่มีรัฐบาลใดดำรงอยู่ได้บนความไร้ศรัทธาของประชาชน
-
ท่ามกลางความอันตรายจากลมพายุทั้ง 8 ลูกนี้ สิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ก็คือ ปัญหาที่ก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเปรียบเทียบได้กับ "ภูเขาน้ำแข็งใหญ่" ที่จมเรือเดินสมุทรได้ไม่ยากนัก
-
ส่วนรัฐนาวา คสช. จะกลายเป็น "เรือไททานิค" หรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป…
-
และใครจะเป็น "แจ็กกับโรส" ยืนหน้าหัวเรือลำนี้ คงต้องยกให้ท่านผู้อ่านจินตนาการกันเอาเองครับ!
-
Cr. สุรชาติ บำรุงสุข
ที่มา ยุทธบทความ, มติชนสุดสัปดาห์